ความรู้สู่ประชาชน

โรคปริทันต์ หรือที่คนส่วนใหญ่ รู้จักในชื่อ โรครำมะนาด คือโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะปริทันต์ หรือ อวัยวะรอบๆฟันนั่นเอง โดย  สามารถแบ่งได้    ตามความมากน้อยในการลุกลามของโรค เป็น 2 ระดับ คือ


1. โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) ซึ่งจะพบการอักเสบเฉพาะที่เหงือก

2. โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) ซึ่งจะพบการอักเสบของเหงือก ร่วมไปกับการอักเสบของเอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน

สาเหตุของโรคปริทันต์  คือ การที่เราทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ ทำให้มีคราบอาหารเกาะติดบนผิวฟันกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นแผ่กระจายไปบนผิวฟัน ที่เราเรียกกันว่า คราบplaque หรือแผ่นคราบจุลินทรีย์ โดยแบคทีเรียจะปล่อยกรดและสารพิษออกมา เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ผลคือทำให้เหงือกบวมแดงอักเสบและมีเลือดออก ทำให้เกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์ แผ่นคราบจุลินทรีย์ไม่เพียงแต่จะมีแค่ส่วนตัวฟันที่อยู่เหนือขอบ เหงือกเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในส่วนใต้ขอบเหงือกที่เรามองไม่เห็น ส่วนนี้เองที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ลงสู่กระดูกเบ้าฟัน ผลคือทำให้กระดูกเบ้าฟันละลาย ทำให้ร่องเหงือกลึกลงไปเรื่อยๆ ทำให้ฟันไม่ยึดติดกับเหงือกและก่อให้เกิดหนอง อยู่ในร่องปริทันต์ จะรู้สึกเจ็บเหงือกและมีอาการปวดเมื่อเคาะที่ตัวฟัน ฟันอาจจะโยกได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้เหงือกและกระดูกเบ้าฟันจะถูกทำลายลงเรื่อยๆจนในที่สุดอาจจะต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไป

หินปูนเกิดได้อย่างไรและมีผลอย่างไร  กลไกการเกิดมีดังนี้คือ หลังแปรงฟัน2-3นาที จะมีน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน เชื้อโรคที่มีอยู่มากมายในช่องปากจะมาเกาะทับถมใน 1 วันเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์(dental plaque)ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคฟันผุและโรคปริทันต์ นานวันเข้าจะแข็งตัวกลายเป็นหินปูน ซึ่งเป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์  เมื่อคราบหินปูนและเชื้อจุลินทรีย์สะสมมากขึ้นและนานขึ้น จะเพิ่มปริมาณลึกลงไปใต้ขอบเหงือก ทำให้การอักเสบลุกลามลงไปยังอวัยวะปริทันต์ จึงเกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์ตามมา


อาการของโรคปริทันต์  ได้แก่ เหงือกเริ่มแดง บวม กดนิ่ม ขอบเหงือกหนาตัว มีเลือดออกได้ง่าย รวมทั้งมีกลิ่นปาก หากทิ้งไว้นานจนเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ก็อาจเกิดอาการ เหงือกร่น มีหนองออกตามร่องเหงือก ฟันโยก ซึ่งหากเป็นมากก็ต้องถอนฟันไปในที่สุด 


เราจะป้องกันโรคปริทันต์ได้อย่างไร เราต้องทำความสะอาดฟันและซอกฟันอย่างถูกวิธี และสม่ำเสมอด้วยตนเอง อย่างน้อยจะต้องใช้แปรงและไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อที่จะกำจัดคราบจุลินทรีย์ให้หมดทุกวัน รวมทั้งควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจดูว่ามีคราบจุลินทรีย์และหินปูนหลงเหลือจากการทำความสะอาดเองหรือไม่


หากเป็นโรคปริทันต์แล้วจะทำการรักษาอย่างไร   การรักษาจะต้องมีการขูดหินปูน และเกลารากฟัน (root planing) ร่วมด้วย โดยจะขูดหินปูนทั้งบนตัวฟันและส่วนที่อยู่บนผิวรากฟันภายในร่องปริทันต์ ส่วนการเกลารากฟันคือการทำให้ผิวรากฟันเรียบเพื่อให้เนื้อเยื่อเหงือกสามารถกลับมายึดแน่นติดกับผิวฟันได้เหมือนเดิม ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องทำซ้ำหลายๆครั้ง หลังจากรักษาเสร็จแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะเรียกกลับมาดูอาการอีกครั้งว่า หายดีหรือไม่ ถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่หรือมีการละลายของกระดูกไปมาก อาจจำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดเหงือก (ศัลย์ปริทันต์ : Periodontal Surgery) ร่วมด้วย   การรักษาโรค เหงือกควรจะรีบทำการรักษาในทันทีที่มีการตรวจพบว่าเป็นโรคเหงือก เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น หากพบอาการของโรคเหงือกควรเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อที่จะทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะหากปล่อยไว้ โรคเหงือกอาจทำให้สูญเสียฟันได้            
                                   

 

 

 

โรคปริทันต์

โรคอื่นๆที่น่าสนใจ Click